เนื่องจาก มาตรา 56 ในพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้ระบุสิทธิของบุคคลในการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไว้ว่า แสดงได้เฉพาะผู้ที่ได้รับรองมาตรฐาน
ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิการแสดงเครื่องหมายรับรอง จึงต้องมีสภาพเป็นบุคคลจึงจะได้รับประโยชน์ในสิทธิตามกฎหมาย 
จึงไ
ม่สามารถเป็นชื่อสถานที่ผลิต แต่ต้องเป็นเจ้าของสถานที่ หรือผู้ใช้ประโยชน์ในสถานที่นั้น

 สภาพบุคคล ตามกฎหมายได้แก่ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

  1. บุคคลธรรมดา หมายถึง มนุษย์ทุกช่วงอายุตั้งแต่ทารก จนก่อนตาย อย่างไรก็ตาม มาตรา 20 มาตรา 21 พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรได้จำกัดสิทธิของบุคคลที่สามารถขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ดังนั้น ผู้มีสิทธิแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ ก็ต้องมีความคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 21 เช่นกัน เพราะหากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว ย่อมไม่สามารถประกอบกิจการ และมีสถานที่ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อทำการตรวจประเมินได้
    อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยรับรองได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขอรับรองมาตรฐาน ไว้ ดังนั้น ผู้มีสิทธิแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน จะต้องมีคุณลักษณะ และคุณสมบัติ เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขอรับรองมาตรฐานด้วย เช่น การรอรับรองฟาร์มมาตรฐานสัตว์น้ำ ของกรมประมง จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฟาร์มไว้ก่อน
  2. นิติบุคคล หมายถึง นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ นิติบุคคลตามกฎหมายอื่นๆ ตัวอย่างของนิติบุคคล เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน บริษัท กรม โรงเรียน
    วิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนและดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล ถือเป็นนิติบุคคล สิทธิและการรับผิดเป็นของนิติบุคคล และผู้มีอำนาจกระทำการแทน
    แต่วิสาหกิจชุมชน ที่ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล เป็นคณะบุคคล หรือบุคคลร่วมกัน สิทธิและการรับผิดย่อมเป็นของบุคคลในวิสาหกิจชุมชนนั้น โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนวิสาหกิจชุมชนสามารถยื่นขอการรับรองได้

 ในระบบการตรวจประเมิน เองก็ได้จำแนก ผู้ได้รับประโยชน์จากการรับรองมาตรฐานออกเป็น

  1. ลูกค้าการตรวจประเมิน (Audit client) หมายถึง ผู้ที่ร้องขอให้มีการตรวจประเมิน ซึ่งอาจจะตรวจประเมินโรงงานของตัวเอง หรือของผู้อื่นก็ได้ เช่น กรณี ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ สามารถร้องขอให้ ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานเดินทางไปตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของสถานที่ผลิตในต่างประเทศได้ 
  2. ผู้รับการตรวจประเมิน (Auditee) หมายถึง ผู้รับการตรวจประเมิน มักจะเป็นทีมงานที่ควบคุมการดำเนินการกับสินค้าเกษตร ณ สถานที่ตรวจประเมิน

 เมื่อนำสองส่วนมาสรุปร่วมกัน ทำให้จำแนกชื่อ ออกเป็นดังนี้

  1. ชื่อผู้ยื่นคำขอ : เป็นชื่อเดี่ยวกับชื่อผู้ได้รับรอง จะต้องมีสภาพเป็นบุคคล ตามกฎหมาย โดยอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ก็ได้
    กรณีนิติบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน ผู้จัดการ หรือ ผู้ประสานงาน สามารถดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นได้ เมื่อได้รับมอบอำนาจ แต่ความรับผิดและการรับสิทธิตามกฎหมาย ยังคงเป็นของนิติบุคคลนั้น
  2. ชื่อผู้ได้รับรอง : หมายถึง ชื่อผู้ยื่นคำขอที่ผ่านการตรวจประเมินและมีความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ชื่อผู้ได้รับรองจำเป็นต้องระบุบนใบรับรองมาตรฐาน เพือให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ดูกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้อง)
  3. ชื่อสถานที่ผลิตที่ได้รับรอง : อาจมีหรือไม่มีก็ได้ อาจซ้ำหรือไม่ซ้ำกับชื่อผู้ยื่นคำขอก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีสภาพบุคคล สามารถระบุไว้บนใบรับรองได้ แต่ยังจำเป็นต้องระบุชื่อผู้ได้รับรองไว้เป็นอย่างน้อย
  4. ชื่อการค้า : เป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักที่เจ้าของสินค้าสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อความกับลูกค้า ผู้ได้รับการรับรองหลายท่านต้องการให้ระบุชื่อการค้าไว้บนใบรับรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ยังจำเป็นต้องระบุชื่อผู้ได้รับรองไว้เป็นอย่างน้อย

ข้อสรุปดังกล่าวถูกมาใช้ในการออกแบบระบบจัดเก็บข้อมูลใบรับรองมาตรฐาน โดยจะมีข้อมูลอย่างน้อยดังนี้

  1. ชื่อของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก : เพื่อการระบุตัวตนให้ชัดเจน และสอดคล้องกับนโยบายลดการใช้กระดาษ บุคคลควรมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขทะเบียนฟาร์ม หรือเลขทะเบียนเกษตรกร เป็นอย่างน้อย
  2. ที่อยู่ของผู้ผลิต/นำเข้า/ส่งออก : แบ่งเป็น ที่อยู่สำนักงาน ที่อยู่ที่ติดต่อได้ และที่อยู่ของสถานที่ผลิต/เก็บ สินค้าที่ได้รับการรับรอง
  3. ชื่อ ประเภท ชนิดของสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง : เช่น ชนิดสินค้า ชื่อการค้า ชื่อสินค้า ขอบข่ายการรับรอง เป็นต้น
  4. ชื่อมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้รับรอง : เพื่อแสดงคุณลักษณะ มาตรฐาน และคุณสมบัติของสินค้า/สถานที่ผลิตที่ได้รับรองมาตรฐาน
  5. วันที่ออกใบรับรองและวันสิ้นอายุ : เพื่อกำหนดช่วงเวลาที่มีสิทธิแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน
  6. เลขที่ใบรับรอง : เพื่อใช้ในการตรวจสอบกลับไปยังหน่วยรับรอง อย่างไรก็ตาม 
  7. รหัสในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน : เพื่อใช้ในการแสดงกับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน มีความสำคัญมากเนื่องจากใช้ในการสืบค้นข้อมูลรายละเอียด ข้อ 1-6 ของการกล่าวอ้างมาตรฐานได้

ในส่วนของการสืบค้นรหัส จะมีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ได้รับรอง แค่ในส่วนของชื่อ และไม่เปิดเผยที่อยู่ของผู้ได้รับรอง
อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องเปิดเผยสถานที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับรอง ดังนั้น ข้อมูลการสืบค้นรหัสจะแสดงไว้ดังภาพ

ภาพแสดงผลการสืบค้นรหัสการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร
ผู้ให้การรับรอง : ชื่อหน่วยงานรับรอง
มาตรฐาน : ชื่อมาตรฐาน
ผู้ได้รับรอง : ชื่อผู้ได้รับรองซึ่งเป็นบุคคลตามกฎหมาย ไม่ใช่สถานที่
ชื่อสินค้า : ชื่อสินค้า
ขอบข่าย : ระบุรายละเอียดของสินค้า หรือกระบวนการที่ได้รับรอง
ที่อยู่ : ที่อยู่สถานที่ผลิตสินค้า
© กองควบคุมมาตรฐาน (กคม.) 2023

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)